พระเกี้ยว
เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยา แปลว่า ผูกรัดหรือพัน
พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่าเครื่องประดับศีรษะ หรือจุลมงกุฎ
จุลมงกุฎมีความหมายสำคัญยิ่งคือ เกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้นยังมีความเกี่ยวกันถึงพระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขา(สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งสำนักฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือต่อมาได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก
ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูล ขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูล ขอพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อ ซึ่งได้พระราชทานใหม่ตลอดมา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ