ดนตรีนั้นสำคัญไฉน
เมื่อเอ่ยถึงดนตรี แทบจะไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จัก แต่ที่มาของดนตรีนี้เล่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
วิวัฒนาการของดนตรีได้เริ่มต้นจากเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาทิเช่น เสียงฝนตก เสียงใบไม้ไหว เสียงคลื่น เสียงลมพัด เสียงร้องของแมลงหรือสัตว์ต่าง ๆ เสียงเหล่านี้จะมีลักษณะของเสียงที่เฉพาะเจาะจง มีความไพเราะที่แตกต่างกันและด้วยความซาบซึ้งในความไพเราะนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์พยายามประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาผสมผสานกันให้เป็นจังหวะเป็นทำนอง และเพิ่มเนื้อหาสาระจนกลายมาเป็นดนตรีหลากหลายรูปแบบดังที่เราได้ยินได้ฟังกันในทุกวันนี้
การฟังดนตรีที่มีท่วงทำนองที่แตกต่างกัน จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันด้วย ดนตรีที่มีจังหวะท่วงทำนองเร็ว ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน จังหวะช้าทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า และดนตรีที่มีเสียงสูงต่ำดังกังวาลจะทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักเลือกฟังดนตรีแนวที่ตนชอบมากกว่า บางคนชอบฟังดนตรีที่มีจังหวะเร็ว มันสะใจ จะเลือกฟัง เพลงร็อค เพลงดิสโก้ บางคนเลือกฟังแร็พ ตามสมัยนิยมและบางคนชอบดนตรีเบาสบายก็เลือกฟังเพลงคลาสสิก
แต่ก็รู้กันหรือไม่ว่า ดนตรีที่เราฟังกันอยู่นี้มีผลอย่างไรต่อร่างกายของเรา ในบางขณะดนตรีบางประเภทอาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด หรือตึงเครียดมากขึ้น แต่ดนตรีอีกประเภทหนึ่งสามารถทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายความสับสนวุ่นวายลง ทำให้จิตใจแจ่มใสขึ้นได้ ดนตรีแต่ละประเภทที่ว่านี้แตกต่างกันอย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้สึกกับสภาวะของสมองในฐานะที่เป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ของเรากันเสียก่อน
ในสภาวะปกติสมองจะรับข้อมูลต่าง ๆ จากภายนอกเป็นจำนวนมาก บางคนมีเรื่องสับสนวุ่นวายให้คิดมากมาย คลื่นสมองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จึงมีความถี่สูง เรียกคลื่นสมองช่วงนี้ว่า "คลื่นเบต้า" (Beta Wave) รูปร่างของคลื่นเบต้ามีลักษณะคล้ายเส้นกราฟที่ขยุกขยิกขึ้น-ลง ขึ้น-ลง สลับกัน คล้าย ๆ เวลาเราลากเส้นสลับฟังปลานั่นเอง ถ้าสมองมีเรื่องต้องคิดวุ่นวายมาก เส้นกราฟจะขยุกขยิกมากด้วย ภาวะเช่นนี้จะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ประสิทธิภาพในการคิดตัดสินใจไม่ดี
ส่วนสภาวะที่ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จิตใจและสมองต้องอยู่ในสภาวะที่สงบ เยือกเย็น ทั้งนี้เพราะว่า คลื่นสมองในช่วงนี้หรือเรียกว่า "คลื่นอัลฟา" (Alpha Wave) จะมีความถี่ช้ากว่า มีขนาดใหญ่กว่า และมีพลังงานมากกว่าคลื่นเบต้า รูปร่างของคลื่นอัลฟามีลักษณะคล้ายรูปลูกคลื่น ไม่ขยุกขยิกเหมือนคลื่นเบต้า คลื่นอัลฟานี้ช่วยทำให้ความสับสนวุ่นวายในสมองลดลง จิตใจจึงสงบและเยือกเย็นขึ้น ซึ่งพร้อมทีจะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
และตอนนี้ก็เข้าถึงเรื่องของดนตรีกับคลื่นสมองกันเสียที ดนตรีที่มีจังหวะเร็ว หรือดนตรีที่มีจังหวะไม่เป็นระเบียบ เช่น เพลงดิสโก้ จะทำให้คลื่นสมองมีความถี่สูงขึ้น โดยเฉพาะในคนที่กำลังมีความตึงเครียดอยู่แล้ว จะทำให้ยิ่งเครียดมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ๆ ที่ฟังเพลงดิสโก้ขณะที่ดูหนังสือนั้นจะทำให้สมองปั่นป่วนและการเรียนไม่ได้ผล ดังนั้นจึงต้องหาวิธีที่ช่วยทำให้คลื่นสมองมีความถี่ช้าลง ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและเรียกประสิทธิภาพในการทำงานกลับคืนมาก วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ การฟังเพลงประเภทต่าง ๆ ดังนี้ เพลงบรรเลงเบา ๆ เช่น เพลงมานโตวานี (Mantovani) เพลงของพอล โมริอาต์ (Paul Mauriat) หรือเพลงของริชาร์ด เคลเอร์แมน (Richard Calyderman) เพลงคลาสสิก เช่น ซิมโฟนี่หมายเลข ๕ ของบีโธเฟ่น (Beethoven's Symphony NO.5 in C.Minor) หรือเพลงของไซคอฟสกี้ (Tchaikosky) เป็นต้น นอกจากนี้เพลงที่มีเสียงธรรมชาติผสมผสานกับเครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน พิณฝรั่ง คลาลิเนต หรืออื่น ๆ เช่น เพลงของคิทาโร่ (Kitaro)
มาถึงตอนนี้แล้วพอจะบอกกับตัวเองได้หรือยังว่า ควรฟังเพลงประเภทใดจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง
หากยังไม่แน่ใจลองอ่านต่อไปอีกสักนิดก็แล้วกัน มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ดนตรีที่มีคุณภาพทั้งเนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ และความถี่ของเสียง จะช่วยกระตุ้นให้สมองของมนุษย์หลั่งสารแห่งความสุข หรือเอนโดร์ฟิน (Endorphin) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลดีต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ดนตรีที่มีคุณภาพยังมีผลต่อการเพิ่มความสามารถในการจำ สร้างสรรค์ความคิดริเริ่ม หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ช่วยพัฒนาสมองนั่นเอง
ดังนั้นการเลือกฟังเพลงหรือดนตรีจึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราจะต้องพิถีพิถันกันมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าหากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น
|